รู้หรือไม่ ว่าครั้งหนึ่ง Mcdonalds ที่ทั่วโลกให้การขนานนามว่าเป็นหนึ่งในอาหาร fast food ที่ดังที่สุดในโลก สาขาในบ้านเราก็มีผุดขึ้นให้เห็นเป็นดอกเห็ด โดยมีมากกว่า 240 สาขาทั่วประเทศ อ้างอิงจากเว็บไซต์ของแมคโดนัลด์ไทยโดยตรง และคิดว่าน่าจะมากกว่านั้นบวกลบเล็กน้อย ทว่ากลับมีอีกหลายประเทศที่Mcdonaldsตีตลาดไม่แตก
หนึ่งในนั้นก็คือที่ เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านของเรานี่เองครับ
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2014 เวียดนามดูเหมือนจะเป็นประเทศในเอเชียต้น ๆ ที่แมคโดนัลด์ให้ความสนใจ และดูเหมือนจะได้รับกระแสดีในช่วงแรก คนนับร้อยต่อคิวเข้าแถวรอกันราวกับแจกเงินฟรี คนแห่กันไปลองทานเพราะอยากรู้ว่า เจ้าแฮมเบอร์เกอร์ที่ดาราฝรั่งกินกันรสชาติจะเป็นยังไง โดยในเดือนแรก ๆ ที่เปิด มีลูกค้ามาซื้อมากกว่าสี่แสนคน เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์เลยก็ว่าได้ แต่นั่นก็แค่ช่วงแรก ในปัจจุบัน ทั้งประเทศเวียดนามมีแมคโดนัลด์เพียง 22 สาขาเท่านั้น ยังเทียบกับในกรุงเทพบ้านเราไม่ได้ด้วยซ้ำ
ทำไมแมคโดนัลด์ที่ดูกระแสตอบรับดีในเวียดนามช่วงแรกถึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จในภายหลัง ?
หากดูจากอาหารขึ้นชื่อของประเทศเวียดนามอย่างเฝอแล้ว จะเห็นว่าคนเวียดนามนิยมรับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก ในขณะที่เบอร์เกอร์นั้นเป็นอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และแทบไม่มีผักในเมนูเป็นส่วนประกอบ ทำให้คนเวียดนามนั้นรู้สึกว่า สไตล์การกินของเขานั้นไม่เข้ากับตะวันตกเสียเท่าไร
ที่สำคัญ อาหารเวียดนามเป็นอาหารที่ทำได้ค่อนข้างเร็วอยู่แล้ว ความเร็วที่เป็นข้อได้เปรียบของแฮมเบอร์เกอร์จึงไม่ใช่จุดเด่นสำหรับชาวเวียดนามอีกต่อไป อีกทั้งราคาของเบอร์เกอร์สูงกว่าอาหารเวียดนามเกือบ 2 เท่า เบอร์เกอร์1ชิ้นจะมีราคาขายอยู่ที่ 3-5 ดอลล่าร์ (ประมาณ 100-150 บาท) ในขณะที่อาหารเวียดนามทั่วไป จะมีราคาเพียง 1-2 ดอลล่าร์ (ประมาณ 30-70 บาท)เท่านั้น
วัฒนธรรมการรับประทานอาหารเองก็เป็นส่วนสำคัญ ชาวเวียดนามชอบที่จะนั่งทานอาหารร่วมกัน ซึ่งแฮมเบอร์เกอร์ที่เป็นอาหารสำหรับกินคนเดียวไม่ตอบโจทย์ในจุดนี้ ฉะนั้นจากด้านบน ทำให้ชาวเวียดนามหันหน้าเข้าร้านอาหารข้างทางมากขึ้น
แต่ Mcdonalds เองก็ไม่ได้ยอมแพ้แต่อย่างใด และยังคงมีกลยุทธ์ในการตีตลาดอยู่เรื่อย ๆ
โดยปัจจุบันทางแมคโดนัลด์ก็ได้เน้นใช้วัตถุดิบของเวียดนามเป็นหลักเพื่อให้รสชาติถูกปากคนเวียดนาม ด้วยการร่วมมือกับร้านในท้องถิ่น และออกแบบเมนูเฉพาะของเวียดนามให้มากขึ้น โดยใช้วัตถุดิบของเวียดนามโดยตรงผสมผสานกับการนำเข้าของวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อหวังจะตีตลาดเวียดนามให้จงได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : efe, bettermarketing และ vietnam-briefing ด้วยครับ