ในสมัยก่อน อาชีพนักขายหรือที่เรารู้จักกันดีว่า ‘เซลล์’ (sales) นั้นบ่อยครั้งมักได้รับการดูถูกดูแคลนจากบุคคลทั่วไป พอบอกว่าจะไปทำอาชีพเซลล์ บางคนได้ยินกลับทำหน้าเหมือนเราจะไปค้ายาเสียอย่างนั้น
ทั้งที่ความจริง การเป็นเซลล์นั้นเป็นอาชีพที่รายได้ค่อนข้างสูง และมีแรงกดดันมากไม่แพ้กับอาชีพอื่น ๆ หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับการหาลูกค้าได้ล้วน ๆ
ซึ่งในวันนี้ เราจะพาคุณมาพบกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเจ้าแม่แห่งเซลล์แห่งวงการธุรกิจกัน !
เธอมีชื่อว่า Mary Kay Ash หรือชื่อเต็มคือ Mary Kathlyn Wagner
เป็นนักธุรกิจสาวชาวอเมริกันและเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องสำอางค์ Mary Kay ซึ่งมีสินค้าเสริมความงามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่โฟมล้างหน้า มาสก์ โทนเนอร์ ครีมกันแดด ไปจนถึงรองพื้นเลยทีเดียว ซึ่งบริษัทของเธอนั้นมียอดขายสิริรวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยถึง 1 แสนล้านบาท !
จุดประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทเครื่องสำอางค์ Mary Kay นั้น เธอทำเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมของสตรีโดยเฉพาะ เพราะในสมัยก่อน ผู้ชายเวลาทำอาชีพ sales มักจะได้เลื่อนตำแหน่งง่ายกว่าผู้หญิงอย่างเธอ โดยเธอได้มีโอกาสทำงานเป็น sales ถึง 25 ปี แต่กลับไม่ได้เลื่อนขั้นสักที ในขณะที่เพื่อนร่วมงานของเธอที่เป็นผู้ชายกลับได้เลื่อนขั้นซะงั้น แถมผู้ชายที่เธอสอนงานขายให้ก็ยังได้เลื่อนขั้นก่อนเธอ
จากจุดนั้นทำให้เธอตัดสินใจลาออกในปี 1963 และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ธุรกิจกว่า 25 ปีของเธอเพื่อแสดงจุดยืนทางธุรกิจสำหรับผู้หญิง
ในปีเดียวกัน Mary จึงเริ่มคิดการใหญ่กว่านั้น เพราะสิ่งที่เธอทำคือการเขียนหนังสือซึ่งเป็นนามธรรม เธอจึงต้องการสร้างบริษัทโดยใช้สิ่งที่เธอเขียนจากหนังสือ แมรี่จึงยืมเงินของลูกชายเธอราว ๆ 5 พันดอลลาร์มาก่อตั้งบริษัท Mary Kay ในปัจจุบัน
โดยเธอนั้นเริ่มการธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานเพียง 9 คน จนในปี 2014 มีตัวแทนขายมากถึง 800,000 คนกว่า 37 ประเทศ โดยมียอดขายรวมกว่า 200 ล้านเหรียญต่อปี และมีที่ปรึกษามากกว่า 3 ล้านคนทั่วโลกและมีปริมาณการขายส่งมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อะไรที่ทำให้ Mary ที่เป็นนักธุรกิจหญิงไม่กี่คนในยุคนั้นประสบความสำเร็จได้
อย่างแรกคือ เราต้องมีความฝัน เราฝันถึงอะไร และฝันของเราเป็นอย่างไร และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่เราฝัน ไม่ว่าฝันนั้นจะไร้สาระหรือแปลกแค่ไหน แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จบางครั้งก็มาจากความแปลกใหม่ ฉะนั้น การคิดอะไรแปลก ๆ หรือแหวกแนวไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
จุดเด่นสำคัญคือ เธอใช้ความ ‘เข้าใจ’ ในตัวทีมงานของเธอ หากคนที่เป็นเซลล์ขายไม่ได้ เธอก็จะแนะนำวิธีการขายและให้รางวัลหรือโบนัสเพื่อจูงใจพวกสาว ๆ เหล่านั้นมากกว่าการด่าทอ หรือกำหนดว่าต้องขายให้ได้เท่านั้นเท่านี้ เพราะเธอคิดว่าการสร้างแรงกดดันแง่ลบนั้นไม่ใช่เรื่องที่ส่งผลดีต่อตัวเซลล์เท่าไร และพร้อมแบ่งรายได้กับพนักงานของเธออีกด้วย โดยเธอแสดงยอดขายให้พนักงานเห็นเพื่อความบริสุทธิ์ใจอีกด้วย
เธอให้ความสำคัญกับคนเสียส่วนมาก โดยแม้กระทั่งบุคคลที่เป็นตัวแทนขาย ที่รับสินค้าขายยังร้านค้าปลีกก็ยังได้ค่าคอมมิชชั่นจากบริษัท ทำให้สินค้าของเธอได้รับความนิยมและมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ทั่วโลก
นอกจากนั้น อ้างอิงจากเว็บไซต์ mbaknol ที่พูดถึงทักษะเฉพาะตัวของเธอว่า เธอยังมีทักษะการคาดการณ์ทิศทางของตลาดที่ยอดเยี่ยม รู้ว่าสินค้าไหนควรขายหรือไม่ควรขายในเวลานั้น ๆ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การให้ความสำคัญกับคน หรือพนักงานของเธอนั้นคือหัวใจสำคัญของเทคนิคในการขาย การที่พนักงานรู้สึกว่าตัวเอง comfort ในงานจะทำให้พวกเขามีกำลังใจในการขาย และทุ่มเทกับงานมากกว่าการถูกกดดัน รวมถึงการรู้ทิศทางของตลาด และสร้างจุดเด่นโดยเป็นบริษัทเครื่องสำอางค์ที่เน้นการสร้างพนักงานขายหญิง เรียกได้ว่าเธอคนนี้คือผู้เปิดทางให้กับตลาดเซลล์หญิงในปัจจุบันเลยก็ว่าได้
อย่าให้เพศมาเป็นกำแพงกำหนดอาชีพหรือความฝันของคุณ ขอแค่คุณมีฝัน และริเริ่มที่จะทำมัน ไม่ว่าคุณจะประสบความสำเร็จอย่างที่คุณฝันไว้หรือไม่ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างถือเป็นการริเริ่มที่ดี และเป็นประสบการณ์ที่จะให้บทเรียนชีวิตของคุณไม่มากก็น้อย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : biography, studiomagenta, wikipedia, qrius และ mbaknol ด้วยครับ