ทำไมยาคูลต์ถึงครองใจคนไทยได้มากกว่า 50 ปี?

ทำไมยาคูลต์ถึงครองใจคนไทยได้มากกว่า 50 ปี?

อย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่า ยาคูลท์ หรือ นมเปรี้ยวขวดเล็กที่มีสาขาแพร่ไปทั่วบ้านเรานั้นอยู่กับเรามานานมาก ถึงบางคนจะเป็นเด็กที่ตอนนี้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม หารู้ไม่ว่ายาคูลท์นั้นอยู่คู่กับคนไทยมากกว่า 50 ปีแล้ว แต่กว่าจะมาเป็นยาคูลท์ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง เรามาลองรับชมกันเลยดีกว่าครับ

ยาคูลท์เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2473 โดย ดร. มิโนรุ ชิโรตะ โดยเขาได้ค้บพบจุลินทรีย์ชนิดพิเศษที่อยู่รอดในลำไส้ ถือเป็นต้นกำเนิดของ “แลคโตบาซีลัส คาเซอิ สายพันธุ์ชิโรตะ” ที่ช่วยปรับสมดุลลำไส้ของเรา ทำให้มีการผลิตยาคูลท์ออกมาจำหน่ายครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ยังไม่ได้เข้ามาที่ไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 คุณประพันธ์ เหตระกูล มีโอกาสได้รับทุนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโกเบ เนื่องจากเขาท้องเสียง่าย จึงได้ลองดื่มยาคูลท์เพราะเพื่อนแนะนำมา และพบว่ามันช่วยให้ลำไส้แข็งแรงจริง ทำให้มีความคิดที่จะนำผลิตภัณฑ์นี้เข้ามาในไทย

ปี พ.ศ. 2513 บริษัทยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือกำเนิดขึ้นและเริ่มจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ผ่านทางสาวยาคูลท์และร้านค้าในชุมชน ถ้าถามว่าขายดีแค่ไหน…ก็อยู่กับคนไทยมานานกว่า 47 ปีแล้ว

จากการสำรวจรายได้ของยาคูลท์เซลล์ จำกัด พบว่าปี พ.ศ. 2560 มีรายได้ 4549 ล้านบาท โดยได้กำไรไป 952 ล้านบาท และได้กลายเป็นเจ้าแห่ง “นมเปรี้ยวผสมจุลินทรีย์” ที่มีมูลค่าในตลาดกว่า 8000 – 10000 ล้านบาท ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้ยาคูลท์ครองใจคนไทยมาได้กว่าครึ่งศตวรรษ คือ ทำสิ่งใหม่ก่อนคนอื่น ๆ เพราะในปี พ.ศ. 2514 ยาคูลท์ถือเป็นนมเปรี้ยวจุลินทรีย์เจ้าแรกในไทย จึงเป็นการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพและยังไม่มีใครทำ แน่นอนว่า การทำแบบนี้มีข้อดีคือเราจะได้เป็นเจ้าแรก แต่ข้อเสียคือ ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่

แต่สุดท้าย ความกล้าของคุณประพันธ์ในครั้งนั้นถือว่าคุ้มค่า เพราะผู้คนต่างให้การตอบรับที่ดีจนผลประสบความสำเร็จ หลังจากนำยาคูลท์เข้ามาในไทย ก็ได้สร้างโมเดล “สาวยาคูลท์” ขายตรงถึงบ้านลูกค้าแบบที่ญี่ปุ่นใช้ด้วย ซึ่งในไทยไม่มีการใช้คนขายนมแบบส่งตรงถึงบ้านมาก่อน

 การขายตรงนี้เป็นธุรกิจที่ดีมาก เพราะสาวยาคูลท์สามารถให้ความรู้ลูกค้าใหม่ จนคนสนใจสั่งซื้อและกลายเป็นลูกค้าประจำในที่สุด และยังได้สาวยาคูลท์ที่เป็นตัวแทนวางสินค้าในร้านโชห่วยต่าง ๆ ในชุมชนซึ่งถือเป็นอีกช่องทางที่ขายดีในยุคนั้น และที่สำคัญคือ การปรับตัวเมื่อกระแสผ่านไป โดยยอมเพิ่มช่องทางการขายไปยังร้านสะดวกซื้อ หลังเกิดกระแสผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่บ่นว่ายาคูลท์ทานได้ยากมาก

นอกจากนี้ ยาคูลท์ยังเน้นที่ผลิตภัณฑ์ทางสุขภาพอย่างเดียว คือ นมเปรี้ยวจุลินทรีย์ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เทรนด์แห่งสุขภาพกำลังมาแรง ยาคูลท์ที่มีน้ำตาลมากกว่า 15 – 18 % กลับถูกตีว่าเป็นสินค้าที่ทำให้อ้วนทันที ทางยาคูลท์จึงได้ทำ “ยาคูลท์ไลท์” ขึ้นมา โดยมีน้ำตาลแค่ 1.75% เพื่อวางจำหน่ายควบคู่ไปกับเทรนด์นี้เช่นกัน

เราได้เรียนรู้แง่มุมในการทำธุรกิจกับตลาดเฉพาะทางอย่างยาคูลท์ ไม่ใช่เพราะเป็นเจ้าแรกที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการใส่ใจคุณภาพ ใส่ใจลูกค้าเฉพาะกลุ่มและคู่ค้า ทำให้กลายเป็นเจ้าตลาดและยากที่จะล้มได้