วันนี้ Time machine จะมาพูดถึงประเด็นการนำเสนอเรื่องราวทางศาสนาผ่านมุกตลกกันครับ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาหลัก เรามารู้จักกับพระมหาสมปอง และ พระมหาไพรวัลย์ กันสักนิดก่อนครับ
พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เป็นพระลูกวัดของวัดสร้อยทอง ตั้งอยู่ในเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานครครับ
พระมหาสมปองเป็นนักเทศน์ที่คนทั่วไปรู้จักกันดีในเรื่องความตลกของท่าน และได้เป็นแขกรับเชิญในหนังทางศาสนาหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลเนื่องในงานสัปดาห์พระพุทธศาสนาวิสาขบูชาประจำปี 2551 โดยได้รางวัลเสาเสมาธรรมจักร จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ โด่งดังจากการที่ท่านมีแนวคิดทางด้านการเมือง ทั้งด้านวิจารณ์ และให้คำสอนธรรมะไปในตัว รวมถึงมีการใช้คำศัพท์วัยรุ่นในการโพสต์ทำให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ง่ายโดนใจวัยรุ่น
และสิ่งที่พระทั้งสองรูปนี้มีเหมือนกัน สไตล์การเผยแพร่ธรรมะแบบขบขัน และเพิ่งมีการ Live ทาง Facebook ซึ่งมีผู้ชมสูงถึง 2 แสนคนเลยทีเดียว และการLive นี้เองครับ ที่กลายเป็นชนวนซึ่งทำให้หลายฝ่ายเกิดความไม่พอใจ และกลายเป็นที่วิพากย์วิจารณ์ขึ้น แต่ทุกคนรู้ไหมครับ ว่าจริงๆแล้ว เคสการเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีเหล่านี้ มีมาแล้วนับร้อยปี ในหลากหลายประเทศทั่วโลกเลยครับ
ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาพุทธเป็นอันดับ 1 (ราว ๆ 66%) และเป็นศาสนาหลักของประเทศ ได้มีการเผยแผ่ศาสนาพุทธโดยใช้วิธีการผนวกเข้ากับสื่อ อย่างเช่น เกมและการ์ตูนครับ
ตัวอย่างเช่น ในปี 2020 จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้คนไปวัดไม่ได้ พระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นชื่อ โยเก็ตสึ อะซากาสะ ได้ทำจังหวะบีทบ็อกซ์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการสร้างเสียงดนตรีโดยใช้ลมจากปาก มาทำเป็นทำนองบทสวดครับ ซึ่งนั่นก็ทำให้เขากลายเป็นคนดังในโลกอินเทอร์เน็ตโดยปริยาย
และในปี 2021 ทางสำนักพิมพ์ Coamix ของญี่ปุ่นได้ทำการตีพิมพ์การ์ตูนเรื่องหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทพจากศาสนาต่าง ๆ โดยให้มาประลองกัน และ 1 ในนั้นก็มีพระพุทธเจ้าอยู่ด้วยครับ แม้แต่ในประเทศไต้หวันที่มีคนนับถือพุทธประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรในประเทศ ก็มีการผลิตเกม Fight of Gods เอาเหล่าเทพมาต่อสู้แบบเกม Street Fighter ซึ่งก็มีทั้งพระเยซู พระพุทธเจ้า เทพซุส มายำรวมกันออกมาเป็นเกมต่อสู้ โดยวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้ว
แต่ถ้าเทียบกับศาสนาคริสต์ กลับถ่ายทอดออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบใช้สื่อบันเทิงผลักดันค่อนข้างมาก เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงแถบยุโรป นั้นไม่มีกฏหมายที่ใช้ในการจับกุมการนำบุคคลทางศาสนามาล้อเลียน เพราะอเมริกามีกฏหมายที่ให้เสรีภาพทางการนับถือศาสนา จะไม่มีการชูศาสนาใดศาสนาหนึ่งขึ้นมาเหนือกว่าอีกศาสนาหนึ่งนั่นเองครับ
ดังนั้น ทางศาสนาคริสต์จึงมีการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น มีมเกี่ยวกับศาสนา เพลงเกี่ยวกับพระเยซู หรือแม้กระทั่งการนำสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์ไปแสดงโชว์ที่มีลักษณะล่อแหลม แต่กระนั้น ก็ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวคริสต์ที่เคร่งมาก ๆ อยู่ดีครับ เช่น ในเดือนกรกฏาคม ปี 2553 ขณะที่เลดี้ กาก้าตั้งใจจะไปแสดงคอนเสิร์ตที่สก็อตเทรด เซ็นเตอร์ มีคริสต์ศาสนิกชนจำนวนหนึ่งเข้ามาประท้วงการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ โดยพวกเขากล่าวว่าโชว์ของเธอนั้นล่อแหลมทางเพศ และเป็นการสนับสนุนชาวเกย์อย่างออกนอกหน้าซึ่งขัดกับหลักศาสนาคริสต์
แต่แม้จะเป็นเช่นนี้ เธอก็ยังแสดงคอนเสิร์ตต่อจนเสร็จได้ด้วยดี
ทว่าในฝั่งอนุรักษ์นิยมเนี่ย ก็มีอยู่เช่นกัน อย่างที่ประเทศอินโดนีเซียครับ ประเทศอินโดนีเซียนั้นเป็นที่ตั้งของ บุโรพุธโธ ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญทางพุทธศาสนาครับ และเราก็พบว่าที่แทบจะไม่มี content ใด ๆ ที่นำพุทธศาสนามาล้อเลียนในเชิงตลกเลย เช่นเดียวกับประเทศอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ด้วย
ซึ่งสาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะมีกฏหมายที่กำหนดไว้ว่าการเหยียดหยาม ดูหมิ่นศาสนานั้นเป็นความผิด เช่น กฏหมายในอินโดนีเซีย กำหนดไว้ใน มาตรา 304 ถึง 309 ว่าหากผู้ใดแสดงความดูหมิ่นศาสนาหลักในอินโดนีเซีย มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี หรือปรับสูงสุด 2 พันล้านรูเปียห์ (ราว 4.3 ล้านบาท) เห็นไหมครับว่า การสอนศาสนานั้นมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับประเทศนั้น ๆ บ้างก็ต้องการดำรงความสวยงามของศาสนาไว้ในฐานะของสูงประจำชาติ บ้างก็นำศาสนาเข้ามาเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวตลก สยองขวัญ หรือวิชาการ
แล้วคุณคิดว่า การสอนศาสนาให้ประเทศไทยควรจะเป็นแบบไหนกันครับ