จากคนที่ชีวิตถึงจุดตกต่ำ สู่การสร้างสรรค์ “ฟังใจ” แอปพลิเคชั่นเพื่อคนทำเพลง | พาย ปิยะพงษ์

จากคนที่ชีวิตถึงจุดตกต่ำ สู่การสร้างสรรค์ “ฟังใจ” แอปพลิเคชั่นเพื่อคนทำเพลง | พาย ปิยะพงษ์

ความฝันของทุกคน มีราคาที่ต้องจ่าย แล้วถ้าความฝันของคุณพายฟังใจ คือการทำให้ศิลปินทุกคนอยู่รอดได้อย่างมีความสุข เขาต้องจ่ายอะไรไปบ้าง

“ฟังใจ” แอปพลิเคชั่นที่เริ่มต้นจากความฝันที่อยากให้วงการเพลงดีขึ้น

จากคนที่ล้มเหลวและผ่านจุดตกต่ำมานับไม่ถ้วน สู่การได้รับโอกาสในการสร้างพื้นที่พิเศษให้คนทำเพลงได้มาพบกับคนทำเพลง

จากแอปพลิเคชั่นที่เริ่มจากแค่ความฝันล้วนๆ สู่การเป็นแอปสตรีมมิ่งเพลงชื่อดังอย่าง “ฟังใจ” การเดินทางจากศูนย์มาถึงปัจจุบันนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง มาย้อนเวลาไปดูเส้นทางความสำเร็จ ความภาคภูมิใจ และความยากลำบาก ของ”พี่พาย”และ”ฟังใจ”กันครับ

คุณพาย ปิยะพงษ์ หมื่นประเสริฐดี ปัจจุบันทำงานในบริษัท ฟังใจ ตำแหน่ง Educational Governmental and Oversea Partnership

เล่าเกี่ยวกับฟังใจหน่อยครับ

ฟังใจ ครอบคลุมตั้งแต่การเป็นแอพพลิเคชันในการสตรีมเพลง (Music Streaming Application) เป็นเว็บไซต์ แพลตฟอร์มทางดนตรี และยังรวมถึงนิตยสารออนไลน์ จัดคอนเสิร์ต festival หรืองานสัมมนา เพื่อพาอุตสาหกรรมดนตรีไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

จุดเริ่มต้นของฟังใจ

ฟังใจ เริ่มจากจุดเล็ก ๆ จากคนอยากฟังเพลงและคนอยากปล่อยเพลง เกิดเป็น community เล็ก ๆ ของคนที่ชื่นชอบเพลงมารวมกัน จนเกิดเป็นเพจ บล็อก และในที่สุดก็กลายเป็นนิตยสารออนไลน์ ชื่อ Fungjaizine จนกระทั่งในวันฮาโลวีน ปี 2014 ได้มีการจัดการชื่อเห็ดผี และได้ชักชวนนักดนตรีวงอินดี้มาทำวิดีโอไลฟ์สดจนเว็บล่ม ทำให้รับรู้ว่าคนต้องการฟังอะไรแบบนี้เป็นจำนวนมาก และเพื่อประชาสัมพันธ์แพลตฟอร์มของฟังใจให้ขยายมากขึ้น จึงได้มีคอนเสิร์ต ‘เห็ดสด’ ตามมาภายหลัง

ทำไมต้องฟังใจ

หากให้เปรียบแล้ว มีการเปรียบเทียบฟังใจเป็นสามสิ่ง ได้แก่ ตู้เย็นที่เอาไว้เก็บของคูล ๆ (เจ๋ง ๆ) ศาลพระภูมิสำหรับศิลปินอินดี้ที่เปรียบเสมือนผีเร่ร่อนเพราะไม่ได้สังกัดค่าย และฟังใจ ที่หมายถึง ฟังด้วยหัวใจ แต่ในภาษาอังกฤษ ฟังไจ หมายถึง อาณาจักรเห็ด เมื่อเห็นว่าดีแล้วจึงยึดคอนเซปต์นี้และออกมาเป็นฟังใจปัจจุบัน

จุดเด่นของแพลตฟอร์มฟังใจล่ะ

จุดแข็งของฟังใจคือ ความแข็งแรงของ community ระหว่างแพลตฟอร์มกับศิลปิน จากการที่ขับรถไปนั่งคุยกับศิลปินอินดี้หลายท่านและทำสัญญาหน้าเดียวง่าย ๆ ขอยืมเพลงมาใช้ และไม่มีอะไรมารับรองหากแพลตฟอร์มล่ม ซึ่งจากการทำแบบนั้น ทำให้ความเหนียวแน่นของศิลปินกับตัวแพลตฟอร์มมีสูงมากเลยทีเดียว

กลุ่มเป้าหมายของฟังใจคือใคร

นักเรียน นักศึกษา วัยทำงาน หรือผู้ประกอบอาชีพแนว creative เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้ฟังผ่านเสียงเพลง

สิ่งที่ฟังใจต้องการตอนนี้คืออะไร

ต้องการเงินทุนให้มากขึ้น แม้ว่าอุตสาหกรรมทางดนตรีจะมีแนวโน้มมาทางสายอินดี้ แต่ในตอนนี้เรากลับอยู่ในยุคการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวน เมื่อคิดตามหลัก Pareto Principle จะพบว่าปัญหา 80% ของโรงงานเกิดจาก Resources 20% ศิลปินส่วนใหญ่รายได้ไม่มาก ดังนั้นถ้าหาเงินได้มากพอก็จะหาเงินได้มากขึ้น แต่แบรนด์ต่าง ๆ ก็ยังไม่กล้าลงทุนกับตลาดอินดี้มากนัก ยังไม่สามารถดึงดูดเงินก้อนใหญ่พอมายังตลาดนี้

นอกจากเพลงแล้ว ยังมีบริการอะไรอีกบ้าง

มีบริการ lensod.com ที่เอาไว้จองดนตรีสดเหมือนเอเจนซี่ไว้เล่นในงานเลี้ยง งานแต่ง หรืองานสำคัญต่าง ๆ รวมถึงจัดคอนเสิร์ต จัดสัมมนา หรือหากอยากทำ marketing campaign ที่มีด้านดนตรีมาเกี่ยวข้อง ทางฟังใจก็สามารถช่วยให้งานราบรื่นขึ้นได้

เป้าหมายในอนาคตของฟังใจล่ะ

ต้องการสร้าง Bangkok Music City เป็นงานสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการและเป็น showcase festival ของศิลปินต่าง ๆ ที่เข้าร่วม โดยต้องการผลักดันให้ศิลปินไทยเข้าสู่สากลมากขึ้น และอาจจะต้องมีการทำงานร่วมกับรัฐบาล ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมดนตรีมีความสำคัญต่อประเทศ และให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดชมดนตรีของต่างชาติ ให้ต่างชาติมาดูดนตรีไทยมากขึ้น

ความสำเร็จที่สุดของฟังใจ

ฟังใจเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ศิลปินที่ไม่มีคนฟังเพลงนั้นเปิดรับ ทำให้พวกเขามีผู้ฟังมากขึ้น เป็นที่รวมพลคนฟังเพลงนอกกระแสมาพูดคุยกัน และยังเป็นที่ระบายกับให้กำลังใจกันและกันผ่านเพลงด้วย

มาที่เรื่องของพี่พายคนเก่งกันบ้าง เคยเจอจุดตกต่ำที่สุดในชีวิตไหม

เป็นช่วงหลังเรียนปริญญาโทที่หลังเรียนจบก็ไปสมัคร co-working space ทั้งสมัครแข่งขัน startup และตัวคุณแม่ก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราทำ เฝ้าถามตนเองซ้ำ ๆ ว่าชีวิตคืออะไร พอคิดหนักมากเข้าก็จำเป็นต้องไปหาหมอและถูกวินิจฉัยว่าเป็น bipolar หรืออาการสองบุคลิก

ผ่านมันมาได้ยังไง

ท้ายที่สุด พี่พายก็ได้รับการวินิจฉัยใหม่ และปรากฏว่าเป็นอาการ major depression หรือซึมเศร้าขั้นรุนแรง และได้ทานยาตัวใหม่ ซึ่งทำให้ร่างกายเปลี่ยนไป ตอบสนองกับยามากขึ้น และเป็นครั้งแรกที่มีความสุขจริง ๆ ในรอบหลายปี

ถ้าย้อนไปใน 10 ปีที่แล้วจะบอกอะไรกับตัวเองบ้าง

จงอดทนเถอะ แม้ว่าในชีวิตจะมีเรื่องผันผวนเข้ามามากมาย เพราะมันทำให้เรารู้ว่าสิ่งที่เราต้องการในชีวิตนั้นคืออะไร และหากเราสู้ เข็น ผลักต่อไป ท้ายที่สุดก็จะรู้เองว่าอยากทำอะไร

ความสำเร็จใน 1 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง

จัดงาน Bangkok Music City ซึ่งเป็นไอเดียที่มีมากกว่า 5 ปีแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นปลายทางว่าเราสามารถมีงานสนับสนุนให้อุตสาหกรรมดนตรีไทยไปสู่ระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น

ฝากอะไรถึงคนดูหน่อยครับ

อยากให้มองดนตรีในแง่ทั้งธุรกิจและการส่งเสริมสังคม ทั้งคนทั่วไปและแบรนด์ต่าง ๆ ได้รับทราบมูลค่าและคุณค่าของดนตรี ช่วยกันส่งเสริมศิลปินที่ชอบอย่างถูกลิขสิทธิ์ เพื่อให้พวกเขาได้รับสิ่งตอบแทนอย่างยุติธรรมต่อไป…

Contact
Tel : 02 101 2002
E-mail : hello@fungjai.com

เว็บไซต์และลิงก์ทางโซเชียล

Facebook : https://www.facebook.com/hellofungjai
Website : http://www.fungjai.com/
Youtube : https://www.youtube.com/c/hellofungjai
Instagram : hellofungjai
Twitter : https://twitter.com/hellofungjai
TikTok : https://www.tiktok.com/@hellofungjai