ธุรกิจงานแต่งงาน กับความหวังที่สูญสิ้น

ธุรกิจงานแต่งงาน กับความหวังที่สูญสิ้น

หนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามองที่สุดในสองปีที่แล้ว คงจะหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเช่าซื้อชุด รับจัดงานแต่งงาน งานหมั้น ไปจนถึงผู้ให้บริการเช่าสถานที่และธุรกิจท่องเที่ยวหลังงานแต่ง (ฮันนีมูน) เองก็ต่างเฟื่องฟู เนื่องจากเป็นยุคที่ผู้คนต่างแสวงหาความมั่นคงในชีวิต และหนึ่งในสิ่งสำคัญของวัยผู้ใหญ่คือการแต่งงาน ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของชีวิต จะสังเกตได้ว่าหากลองเดินออกไปตามถนน ไม่ว่าจะเส้นไหน ๆ ก็มักจะเห็นร้านเช่าชุดแต่งงานอยู่ทุกมุมไป

แต่ขณะที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดหวังว่าธุรกิจแต่งงานนั้นยังพอประคองได้ ความหวังก็พังทลายสูญสิ้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่ทุกคนทราบกันดีแพร่เข้ามายังประเทศไทยและทั่วโลก เรียกได้ว่าไม่ใช่แค่ธุรกิจงานแต่ง แต่ธุรกิจทุก ๆ ประเภทก็ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เช่นเดียวกันกับธุรกิจแต่งงานที่เรียกได้ว่า ต้องปิดร้านไปตาม ๆ กัน 

ทำไมธุรกิจแต่งงานถึงได้รับผลกระทบมากขนาดนี้น่ะเหรอ?

      ประการแรก กลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจงานแต่งคือคนวัย 30+ ขึ้นไป เพราะเริ่มมีฐานะที่มั่นคงแล้ว และอยู่ในวัยที่มีงานประจำทำเป็นหลักแหล่ง แต่ในช่วงนี้ หากไม่ใช่บริษัทใหญ่ ๆ แล้วอาจมีโอกาสถูกลดเงินเดือน โบนัสครั้งใหญ่ก็อาจถูกตัดไป ทำให้จำนวนเงินที่จะเก็บได้นั้นไม่เป็นไปตามเป้า นอกจากนี้ บางครั้งหากเกิดการประกาศ Lockdown จากรัฐบาล พวกเขาก็ต้องเอาเงินเก็บสำรองมาใช้ ทำให้จำเป็นต้องยกเลิก หรือเลื่อนการแต่งงานออกไปเสียก่อน ซึ่งก็ส่งผลต่อธุรกิจงานแต่งโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจลักษณะนี้นั้นมีรายได้น้อยลงไปด้วย 

    สิ่งที่ตามมาคือ พอผู้คนไม่มีเงินมากเข้า ก็ไม่มีใครอยากเอาเงินมาเสียให้กับการแต่งงานที่ครั้งหนึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ยิ่งการออกประกาศห้ามรวมกลุ่มกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากรัฐบาลออกมา ทำให้ธุรกิจงานแต่งยิ่งซบเซาขึ้นไปอีก ไม่มีลูกค้า แต่ยังต้องจ่ายค่าลูกน้อง ค่าเช่าที่ และจิปาถะอื่น ๆ โดยมีการคาดการณ์จากทาง website ฐานเศรษฐกิจ ถึงธุรกิจแต่งงานว่าสูญมูลค่าไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท !

      อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเองก็เป็นเรื่องสำคัญ บางร้านอาจปรับตัวโดยการยอมลดราคาให้ถูกลง เพื่อกัดฟันให้ธุรกิจไปต่อ หรือบางร้านอาจใช้เทคนิคการแต่งงานออนไลน์แทน แต่กระนั้น ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกร้านไม่อาจทำเช่นนั้นได้ ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายที่ต้องเห็นร้านที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับงานแต่ง ไปจนถึงรับจัดงานเลี้ยงต้องปิดตัวลงไป 

       หากยังเป็นแบบนี้ต่อไป การแต่งงานที่จัดเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับบางคนจะถูกให้ความสำคัญน้อยลง  รวมถึงการไม่ได้รับการชดเชยเงินจากรัฐบาลเหมือนอย่างที่ผ่านมาจากประกันสังคมแล้ว คาดว่าธุรกิจแต่งงานคงจะปิดตัวลงมากกว่านี้ และผู้คนที่ทำงานในวงการนี้อาจต้องลองคิดหันเหหาอาชีพเสริมเพื่อดำรงชีวิตให้อยู่ต่อไปได้ 

        สำหรับสิ่งนี้จะจบลงเมื่อไหร่ ก็คงจะไม่มีใครรู้ เราคงได้แต่มีความหวังและช่วยให้กำลังใจกันต่อไป