เมื่อบริษัทเครื่องดูดฝุ่นอยากลองทำรถยนต์ไฟฟ้า ผลลัพธ์คือ…?

เมื่อบริษัทเครื่องดูดฝุ่นอยากลองทำรถยนต์ไฟฟ้า ผลลัพธ์คือ…?

แม้ว่าคนเราจะประสบความสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่ง จนทำให้ตนเองร่ำรวยเป็นเศรษฐีระดับแสนล้าน แต่ก็ใช่ว่าเราจะล้มเหลวอีกไม่ได้ เข้าทำนอง “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ความสำเร็จครั้งก่อนไม่ได้การันตีความสำเร็จในครั้งต่อ ๆ ไป เราจะนำเรื่องราวของชายหนุ่มผู้ก่อตั้งบริษัท Dyson เครื่องดูดฝุ่นชั้นนำระดับโลกที่คิดอยากลองทำรถยนต์ไฟฟ้ากันครับ

เครื่องดูดฝุ่น Dyson ตั้งชื่อตามตระกูลของผู้ก่อตั้ง James Dyson เขาก็เป็นคนหนุ่มทั่วไปที่จบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ แต่สิ่งที่แตกต่างไปก็คือ วันหนึ่งในช่วงยุค 1970 เขาซื้อเครื่องดูดฝุ่นมาใช้งาน เขาพบว่าเครื่องดูดฝุ่นแบบที่ใช้ถุงเก็บฝุ่นนั้น เมื่อดูดไปมันจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ แถมตอนถอดถุงมาทิ้ง ยังทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายอีกรอบ

ในปี 1984 หลังจากการทดลองผลิตตัวต้นแบบราวๆ 5,127 แบบ ในช่วงเวลา 5 ปี ในที่สุดเขาก็สามารถคิดค้นเครื่องดูดฝุ่นพลังสูง ที่ไม่ต้องใช้ถุงเก็บฝุ่นได้สำเร็จ และก่อตั้งบริษัท Dyson ได้ ซึ่งยืนยาวมากว่า 30 ปี โดยตอนนี้พวกเขากลายเป็นบริษัทใหญ่ที่ผลิตอุปกรณ์อย่าง เครื่องดูดฝุ่น ไดร์เป่าผม เครื่องเป่ามือแห้ง และพัดลม James Dyson กลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก และยังได้รับการประดับยศ Sir James ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัทที่สร้างทั้งชื่อเสียงและรายได้ให้แก่อังกฤษอีกด้วย

ส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทยังแข็งแกร่ง และทำสินค้าที่ตอบโจทย์คนได้ตลอด ก็เพราะ Dyson ทุ่มเงินให้กับการวิจัยและพัฒนาไปจำนวนมาก แต่ยังมีอีกสิ่งที่พวกเขาสนใจทำ นั่นคือรถไฟฟ้า เนื่องจากสินค้าบริษัทส่วนใหญ่ใช้ “มอเตอร์” ในการทำงานทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพัดลม เครื่องดูดฝุ่น หรือไดร์เป่าผมก็ตาม จุดนี้ทำให้พวกเขามองว่า บริษัทอาจจะสามารถสร้าง “รถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ จึงมีแกนหลักที่แบตเตอรี่และมอเตอร์เช่นกัน ในเมื่อ Tesla บริษัทโนเนมยังทำรถยนต์ไฟฟ้าออกมาวางขายได้ แถมตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า ก็เติบโตขึ้นมาอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เหตุใด บริษัทที่มีชื่อเสียงมาก่อนอย่าง Dyson จะทำรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ล่ะ!? 

ในเดือนกันยายน ปี 2017 ทาง James Dyson จึงประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทพวกเขาจะหันมาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว โดยเขายอมควักเงินส่วนตัวกว่า 80,000 ล้านบาท เพื่อเร่งวิจัย พัฒนา และผลิตรถยนต์ไฟฟ้าวางขายให้ได้ในปี 2020 มีการเข้าซื้อบริษัทพัฒนาแบตเตอรี่ เพื่อให้พวกเขาได้มีเทคโนโลยีนี้มาครอบครอง มีการซื้อที่ดิน 1,300 ไร่ ซึ่งเป็นลานบินเก่า มาเป็นโรงงานและสนามทดสอบรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ

จ้างอดีตพนักงานของ Tesla และพนักงานส่วนอื่นๆ รวม 400 คน เพื่อมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้เสร็จใน 3 ปี รวมถึงการประกาศสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สิงคโปร์ ซึ่งนั่นเป็นข่าวฮือฮาในบ้านเราอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะเท่ากับว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้เกิดขึ้นในอาเซียนแล้ว!!

แต่แล้ว หลังจากทำมากว่า 2 ปี..

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2019 พวกเขาประกาศว่าจะยกเลิกการผลิตและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดโดยให้เหตุผลว่า Dyson ไม่สามารถทำให้รถยนต์ไฟฟ้าของพวกเขา มีประสิทธิภาพดี และราคาคุ้มค่าในระดับที่คนทั่วไปจับต้องได้ ถ้าพวกเขาดิ้นรนทำต่อไป อาจส่งผลกระทบไปยังบริษัทซึ่งทำผลิตภัณฑ์เครื่องดูดฝุ่นได้ดีอยู่แล้ว ให้แย่ตามไปด้วย บริษัทจึงจำเป็นต้องตัดไฟแต่ต้นลม ยอมรับว่าการก้าวเข้ามาในวงการยานยนต์ไฟฟ้า คือสิ่งที่ผิดพลาด

บทเรียนจาก James Dyson และรถยนต์ไฟฟ้าของเขาทำให้เรารู้ว่า

แม้เงิน 80,000 ล้านจะหายวับไปกับตา แต่ก็ไม่ได้แปลว่า Sir James จะเป็นคนโง่เง่าเสียเมื่อไร เพราะอย่างน้อยเขาก็คือมหาเศรษฐีอัจฉริยะ ที่สร้างแบรนด์เครื่องดูดฝุ่นด้วยตนเอง จนมีทรัพย์สินกว่า 400,000 ล้านบาท และก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเศรษฐีระดับนี้ จะอยากคิดค้นพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิมบ้าง มันแสดงให้เห็นว่าเขายังคงมีไฟ ยังคงอยากเรียนรู้แบบไม่หยุดนิ่ง แม้จะอยู่ในวัย 70 ปีแล้วก็ตาม

“อัจฉริยะ” ไม่จำเป็นว่าต้องทำสำเร็จไปเสียทุกเรื่อง ไม่จำเป็นว่าไม่เคยล้มเหลวเลย เพราะบางครั้ง ความผิดพลาดก็เป็นบทเรียนสำคัญ ที่ทำให้เกิดความสำเร็จในภายหลัง 

เหมือนกับเครื่องดูดฝุ่นที่ใช้งานไม่ได้ 5,127 แบบ ก็ทำให้เกิดเครื่องที่ใช้งานได้จริงขึ้นมา 1 แบบ ซึ่งนั่นก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีแสนล้านในท้ายที่สุด…