เจาะไม่เข้า ทำไม 7-11 ถึงเจาะตลาดอินโดนีเซียไม่ได้

เจาะไม่เข้า ทำไม 7-11 ถึงเจาะตลาดอินโดนีเซียไม่ได้

ธุรกิจ 7-11 นับเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยจำนวนสาขาที่มากกว่า 70000 สาขาทั่วโลก ด้วยมูลค่าสูงกว่า 7.5 ล้านล้านบาท และนั่นเป็นแค่มูลค่าในปี 2015 เท่านั้น ในปี 2021 แม้จะเจอกับสถานการณ์โควิด แต่ยอดขายในไตรมาสที่ 2 ของเซเว่นในไทยนั้นสูงถึง 137675 ล้านบาท โดยเพิ่มจากไตรมาสแรกกว่า 7.5% แม้ว่าจะได้กำไรลดลง 24% ก็ตามที ถึงอย่างนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ธุรกิจ 7-11 ที่แสนจะได้รับความนิยมในบ้านเรา กลับไม่สามารถเจาะเข้าประเทศนี้ได้ เดากันสิครับว่าประเทศไหน

คำตอบคือ ประเทศอินโดนีเซียครับ 

ขอย้อนกลับไปในช่วงปี 2009 ทางบริษัทลงทุน PT Modern Internasional ได้มีการนำแฟรนไชส์เซเว่นอีเลเว่นไปบุกเบิกที่อินโดนีเซีย และได้มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ไปรอบ ๆ เมืองหลวงอย่างจาการ์ตาและเมืองข้างเคียง โดยทางร้านเซเว่นของอินโดนีเซียนั้นยิ่งใหญ่กว่าของที่ไทยค่อนข้างมาก เพราะมีทั้งไวไฟฟรี มีที่นั่งดื่มกิน รวมไปถึงของกินหลากหลายอย่าง ตั้งแต่น้ำเปล่า น้ำอัดลม ข้าว และแม้กระทั่งแอลกอฮอล์ หากมีใครขับรถมาก็มีที่จอดรถรองรับ เรียกได้ว่า มีครบจบที่เดียว ทำให้ได้รับความนิยมมากหลังจากที่เปิด

ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คนในเมืองและวัยรุ่น เพราะคนแก่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยนิยมนั่งในที่ที่คนเยอะเสียเท่าไร แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะถึงคนแก่จะไม่นั่งทานอย่างไร แต่พวกเขาก็ยังสามารถเข้ามาซื้อของที่เซเว่นได้  

ยอดขายในปี 2011 นั้น เพิ่มขึ้นเกือบ 700 เปอร์เซ็นต์

เป็น 15.6 ล้านดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 และคาดว่าจะสูงถึง 37 ล้าน และมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีก 18 ล้านดอลลาร์เพื่อขยายสาขาไปอีก 57 สาขาทั่วประเทศ ฟังดูเหมือนจะไปได้สวยใช่ไหมล่ะครับ 

แต่ในปัจจุบัน ถ้าคุณไปเที่ยวอินโดนีเซีย ภาพที่คุณเห็นคงจะเป็นเซเว่นหลายแห่งที่ถูกปิดตัวลง ทำไมเป็นแบบนั้น ทั้ง ๆ ที่เซเว่นนั้นเติบโตขึ้นทุก ๆ ปีตั้งแต่ที่เปิด ยิ่งปี 2014 ที่รายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดตัวมา กว่า 78.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราจะมาหาคำตอบกันครับ หลังจากปี 2014 ที่รายได้แตะเพดานแล้ว ปี 2015 และปี 2016 รายได้กลับค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2015 ลดลงมา 8.9 % และปี 2016 ลดลงมาอีกกว่า 23.4% จากรายได้ในปี 2014 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้

เนื่องจากในปี 2015 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศห้ามการขายแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อ เพื่อป้องกันการทะเลาะวิวาทและการดื่มสุราไปในวัยรุ่น และแน่นอนว่าวัยรุ่นคือกลุ่มลูกค้าหลักของทาง 7-11 พอขายไม่ได้ ทำให้เซเว่นก็กลายเป็นร้านสะดวกซื้อแบบทั่วไป จากเดิมที่ขายทุก ๆ อย่าง เพราะลำพัง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเซเว่นก็ทำรายได้ไป 1 ใน 10 ของรายได้ทั้งหมดแล้ว  เท่ากับว่ารายได้หายไป 10% 

พอรายได้หายไปกว่า 10 % หรือราว ๆ 1620 ล้านบาท ก็ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการบริหาร ทำให้ต้องปิดสาขาไปกว่า 46 แห่งจากทั้งหมด 175 แห่งที่มีทั่วประเทศ และหุ้นของทางแฟรนไชส์ที่รับมาเปิดอย่าง PT Modern ก็ร่วงไปกว่า 54.5 % 

นอกจากนี้ สภาวะทางคู่แข่งร้านสะดวกซื้อของเซเว่นในอินโดนีเซียเองก็ใช่ย่อย ร้านดังในอินโดนีเซียอย่าง Alfamart และ Indomarket มีรากฐานและฐานแฟนที่ยาวนานกว่า และจำนวนสาขาของ Alfamart (10000 สาขา) และ Indomarket (15000 สาขา) แค่สองร้านก็กินส่วนแบ่งทางการตลาดไปกว่า 90 % แล้ว ยังไม่รวมร้านค้าปลีกทั่วไปอีก ในขณะที่เซเว่นมีแค่ 175-190 สาขาเท่านั้น ทำให้ส่วนแบ่งของเซเว่นมีแค่ 0.9 % เท่านั้น นอกจากนี้ ทางร้าน Alfamart ยังมีบริการเสริมมากมายมากกว่า เช่น การรับชำระบิลและการจองตั๋วเดินทางหรือที่พัก ซึ่งคิดเป็นรายได้กว่า 15.3% 

ซึ่งก็น่าสนใจว่า เซเว่นบ้านเราเองก็ทำแบบเคาน์เตอร์เซอร์วิส คือรับชำระบิลเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า หากจะมีร้านสะดวกซื้อเปิดใหม่ที่จะมาแข่งกับบ้านเรา ก็คงยากที่จะเอาชนะเซเว่นที่วางรากฐานมานานและบริการครอบคลุมมากกว่า 

ในที่สุด หลังจากที่ทนกับภาวะรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในที่สุดก็เริ่มขายแฟรนไชส์คืนให้กับทางต้นสังกัดของเซเว่นไปในราคา 1 ล้านล้านรูปีห์ หรือสี่แสนล้านบาท และปิดตัวสาขาเซเว่นอย่างถาวร แต่อย่างไรก็ตาม ทางเซเว่นเองก็ยังไม่ถอดใจ และคิดหาผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะมาเปิดแฟรนไชส์นี้ในอินโดนีเซียต่อ เพราะคิดว่าเซเว่นยังสามารถตอบสนองความต้องการคนบางกลุ่มได้อยู่ แม้อาจจะต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ แต่หากหาวิธีการที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อได้สำเร็จ รายได้ที่จะเข้ามาต่อจากนี้คงไม่หวาดไม่ไหว 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : wowshack, asia-nikkei, sanook, indonesia-investment,minimeinsight,brandbuffet,reuters และ ft ด้วยครับผม